ReadyPlanet.com
dot
dot
หาดทรายขาวรีสอร์ท ( อ.บางสะพาน )
dot
dot
dot
bulletยินดีต้อนรับสู่บางสะพาน
bulletประวัติบางสะพานโดยละเอียด
bulletเส้นทาง - แผนที่รีสอร์ท
bulletแผนที่รีสอร์ทโดยสังเขป
bulletบรรยากาศชายทะเลหน้ารีสอร์ท
bulletเมนูอาหาร ครัวทรายขาว
dot
dot
dot
กิจกรรมของหาดทรายขาวรีสอร์ท
dot
bullet> ดำน้ำชมปะการังเกาะทะลุ
bullet> ออกทะเลตกหมึกตอนกลางคืน
bullet> camping ริมหาด
bullet> ชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ชายหาด
dot
dot
bulletดำน้ำที่เกาะทะลุ
bulletอ่าวบ่อทองหลางบางสะพาน
bulletวัดทางสายเขาปักธงชัย
bulletสะพานปลาบ่อทองหลาง
bulletอ่าวแม่รำพึง
bulletเขาถ้ำม้าร้อง
bulletชมการร่อนทองบางสะพาน
bulletแผนผังที่เที่ยวระแวกใก้ลเคียง
bulletถ้ำเข้าคีรีวงศ์
bulletหาดบางเบิด
bulletพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์หว้าก้อ
bulletประวัติความเป็นมา จ.ประจวบ
bulletสภาพธรรมชาติของจ.ประจวบ
bulletสถาที่ต่างของบางสะพาน
bulletความเป็นมาของจังหวัดประจวบ
bulletวนอุทยานป่ากลางอ่าว
bulletที่พักบางสะพาน จ.ประจวบ
bulletอ.บ.ต อำเภอบางสะพาน
bulletรีสอร์บางสะพาน,บ้านกรูด
bulletทองบางสะพานราคาแพงมาก
bulletน้ำตกที่เที่ยวบางสะพาน
bulletท่านลูกค้าที่มาเยือน
bulletที่พักในตัวอำเภอบางสะพาน
bulletขายทาวน์โฮมพร้อมอยู่
bulletบ้านหัวหิน


คลิกดูรูปทะเลหน้าหาดทรายขาวรีสอร์ท
คลิกดูรูปทะเลหน้าหาดทรายขาวรีสอร์ท
ดำน้ำดูประกาลังที่เกาะทะลุ
รูปครัวทรายขาว
ครัวทรายขาว
 เกาะสังข์  เกาะสิงห์  มีปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์เป็นบริเวณกว้างกว่า  1  ไร่
รูปต่างๆใกล้ๆหาดทรายขาว
ศาลานั่งพักผ่อนทานอาหารริมหาด
รูปถ่าย ส่วนของปลายเกาะทะลุ ฝั่งด้านตะวันตก
แผนที่ " หาดทรายขาวรีสอร์ท " โดยสังเขป จาก GOOGLE EARTH
โรสอินน์ บางสะพาน ห้องพักสะอาด สะดวกสบาย ราคาเยาว์ ใกล้ตลาด และอำเภอ ....LCD TV 50", ดาวเทียม , เคเบิ้ลทีวี , แอร์ , ตู้เย็น , เครื่องทำน้ำอุ่น Inter Net WiFi  tel. 032-692100
แผ่นที่หาดทรายขาวคลิกที่นี่


ประวัติบางสะพานโดยละเอียด

                     เมืองกำเนิดนพคุณกับทองบางตะพาน

    เมื่อเอ่ยถึงบางสะพานแล้ว  ก็คงไม่มีสิ่งใดที่เชิดหน้าชูตามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั่วไปเท่ากับแร่ทองคำหรือ “ทองบางตะพาน”  ในอดีตเป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อลือชามากจนมีผู้กล่าวกันว่าเป็นทองคำเนื้อดีที่สุดในโลก เหลืองอร่ามยิ่งใช้ก็ยิ่งสุกปลั่งดีนัก

   จากเรื่อง “ทองบางสะพาน” ของชุมเจษฏ์ จรัลชวนะเพท  เขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์ฌาปนกิจศพของนายประกอบ ประจวบเหมาะ  กล่าวถึงทองบางสะพานไว้ดังนี้   “พอได้ยินเรื่องแร่ทองคำ จะต้องมีการเชื่อมโยงถึงทองบางสะพานทุกเมื่อ เพราะว่าทองบางสะพานมีคุณลักษณะผิดกับที่อื่นอย่างมาก  กล่าวคือเนื้อทองบริสุทธิ์  เกือบจะเรียกว่าไม่มีอะไรเจือปน สีสันสุกวาวกระทบสายตา ผู้ที่มีโอกาสชมก็อยากได้เป็นเจ้าของ ตัวอย่างที่ผมเองเคยมองเห็นด้วยตานั้น  คุณกอบฯ เอาออกมาให้ชม ผมแทบไม่เชื่อว่ามีของมีค่าสวยงามเช่นนี้อยู่ในเขตบ้านของท่าน  แต่ละก้อนมีประวัติว่าได้มาอย่างไร ขนาดเท่าไร ผมเองมิได้จดจำเอาไว้  จำได้อย่างเดียวว่าท่านเอาออกมาวางไว้บนโต๊ะหลายก้อน เพื่อให้เราถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก”

   ทองบางสะพานนั้นเนื้ออ่อนกว่าทองร้อยเปอร์เซ็นต์  เวลาขุดได้จะมีดินปนอยู่บ้าง แต่ไม่ต้องใช้กรรมวิธีถลุงให้เหนื่อยยาก  เพียงใช้ไฟจากร้านทองก็หลอมเอาดินออกได้โดยง่าย นิยมมาทำเป็นจี้โดยไม่ต้องหลอมเพราะเชื่อว่าป้องกันภยันตรายและภูตผีปีศาจได้ดีนัก  ปรากฏว่าเคยมีผู้ร่อนทองได้ทองเม็ดหนัก 5-10 บาท

   ทองบางสะพานหรือบางตะพานนี้มีชื่อเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ทองนพคุณ”  ในหนังสือประชุมประกาศรัชกาลที่ 4  อธิบายไว้ว่า  “ทองคำที่เนื้อต่ำซื้อขายกันหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 4 บาท  จึงเรียกว่า “เนื้อสี่ “ ที่เนื้อสูงไปกว่านั้น ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 5 บาท เรียกว่า “เนื้อห้า”   ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน 6 บาท เรียกว่า “เนื้อหก”  ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน 7 บาท เรียกว่า “ทองเนื้อเจ็ด”  ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน 8 บาท เรียกว่า “ทองเนื้อแปด”  ทองคำหนักบาทหนึ่งเป็นราคาเงิน 8 บาท 2 สลึง เรียกว่า “ทองเนื้อแปดสองขา” หรืออีกคำหนึ่งว่า “เนื้อแปดเศษสอง”  ตามการที่ราษฎรใช้ซื้อขายกันสมัยนั้นทองคำเนื้อสุกสูงอย่างเอกเช่นทองบางสะพานขายกันหนักเป็นราคา 9 บาท เรียกว่า “นพคุณเก้าน้ำ” ก็ที่ว่าสองขา สามขาก็ดี หรือที่เรียกว่า เศษสอง เศษสามก็ดี โดยละเอียดนั้นคือว่า เศษสลึงแต่หน้าชั้นขึ้นไป”

   ที่เรียกกันว่า ทองเนื้อเก้า  เพราะขายกันหนักบาทละ 9 บาท นี้เรียกกันก่อนรัชกาลที่ 4 นานนัก เพราะในสมัยรัชกาลที่ 4 ทองบางสะพานไม่ได้ขายกันหนักบาทละ 9 บาท และสำนวนการซื้อขายทองก็เปลี่ยนมาเป็นทองราคา 19 หนัก คือหมายความว่า ขายบาท 19 บาท   ในประชุมประกาศนี้ก็มีกล่าวไว้ว่า “ทองผสมสีเหลือง ๆ ให้ดินไม่ขึ้นทุกวันนี้ เรียกว่า “ทองเนื้อริน” แต่ก่อนลาวเรียกว่า “เนื้อสอง” เพราะขายกัน 2 หนัก ทองเนื้อรินอย่างเลวหรือทองสีดอกบวบ ซึ่งในเวลานั้นขายกันหนักราคาต่อหนัก ลาวเรียกว่าทองเนื้อหนึ่ง  แต่โบราณได้ยินว่ามีอยู่บ้างก็ประมาณชื่อเนื้อทองเหล่านี้ทั้งปวง  เดิมเป็นธรรมเนียมของลาวเชียงแสน แลใช้เป็นโวหารในการเทียบน้ำทอง  ครั้นสืบมาถึงเมืองใกล้ทะเลเงินมีเข้ามามาก ราคาทองก็แพงขึ้นไปถึง 2 เท่าพิกัดนั้น คือบางทีทองเนื้อนพคุณบางสะพานราคาถึง 20 หนัก 19 หนัก ทองคำเนื้อแปดสามัญที่เรียกกันว่า “เนื้อแปดตลอด”  ราคาถึง 18 หนัก 17 หนักกึ่ง

   จากการได้สอบถามช่างทำทองในเขตบางสะพานท่านหนึ่งได้กล่าวว่า “ปกติการซื้อขายทองคำ ทองคำจะมีหลายเกรด หลายเนื้อ  ทองคำ 70% ทองคำ 80%  ทองคำ 90% ทองคำ 100%  เหล่านี้ขึ้นอยู่กับสารเจือปนมากน้อยเพียงใด ทองร้อยเปอร์เซ็นต์หมายความว่า ทองคำนั้นบริสุทธิ์  เป็นทองคำแท้ไม่มีสิ่งอื่นใดเจือปน  แต่การซื้อขายทองนพคุณหรือทองบางสะพานนั้น พิเศษกว่าทองคำชนิดอื่น ๆ เพราะเนื้อทองดีใกล้เคียงทองร้อยเปอร์เซ็นต์มาก ซึ่งความจริงนั้นดูจะสุกกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป
              

ในนิราศถลาง ของนายมี (หมื่นพรหมสมพัดสร) ได้กล่าวไว้ว่า
    “กระทั่งถึงบางตะพานสถานที่ มีทองดีแต่บุราณนานหนักหนา
  บังเกิดกับกายสิทธิ์อิศรา  ไม่มีราคีแกมแอร่มเรือง
  เนื้อกระษัตริย์ชัดแท้ไม่แปรธาตุ ธรรมชาติสุกใสวิไลเหลือง
  ชาติประหังหุงขาดบาทละเฟื้อง ถึงรุ่งเรืองก็ยังเยาเบาราคา
  บางตะพานผุดผ่องไม่ต้องหุง ราคาสูงสมศรีดีหนักหนา
  พี่อยากได้เนื้อทองให้น้องทา แต่วาสนายังไม่เทียมต้องเจียมใจ”


           ความดีของทองบางสะพานนี้ มีกล่าวถึงในวรรณคดีไทยหลายเรื่องเช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนทำดาบฟ้าฟื้น
 
   “เอาไม้สรรพยามาทำฝัก  ประสมผงลงรักให้ผิวผ่อง
  กาบหุ้มต้นปลายลายจำลอง      ทำด้วยทองถ้วนบาทชาติบางตะพาน”


          และตอนนางวันทองเตรียมข้าวของแก่พลายงาม เพื่อให้หนีภัยจากขุนช้างว่า
    “จึงเก็บไถ้ใส่ขนมกับส้มลิ้ม ทั้งแช่อิ่มจันอบลูกพลับหวาน
  แหวนราคาห้าชั่งทองบางตะพาน  ล้วนต้องการเก็บใส่ในไถ้น้อย”


      โครงนิราศนรินทร์ ได้กล่าวถึงทองบางสะพานไว้ดังนี้
      “บางสะพานสะพาดพื้น  สะพานทอง
  ฤาสะพานสุวรรณรอง  รับเจ้า
  อ้าโฉมแม่มาฉลอง   พิมพ์มาศ นี้ฤา
  รอยร่อนเหลือป่าเฝ้า   แนบเนื้อนพคุณ
       บางสะพานสะพาดพื้น  ทองปาง ก่อนแฮ
  รอยชะแลงระลุราง   ร่อนกลุ้ม
  ระลึกโฉมแม่แบบบาง  บัวมาศ กูเอย
  ควรแผ่แผ่นทองหุ้ม   ห่อไว้หวังสงวน”


          นิทานคำกลอนเรื่องตาม่องล่าย  ซึ่งเป็นนิทานพื้นเมืองได้กล่าวถึงการกำเนิดทองบางสะพานไว้ว่า
      “เอาของเลี้ยงดูผู้คนไปจนถึง ที่แห่งหนึ่งเป็นสำนักพวกยักษี
  ตาม่องล่ายเห็นเต้นโลดโดดเตะตี ยักขิณีล้มตายลงก่ายกอง
  ทีเหลือตายได้ตัวกลัวม่องฤาม แจ้งใจความว่าบอกมารักษาของ
  ที่ตำแหน่งแห่งนี้มีบ่อทอง  พาตาม่องเดินไปชี้ให้ดู
  ม่องล่ายได้เห็นยืนเต้นเหยง ไหนพวกเองเรียกกันมาเถิดหวาสู
  เอาทองคำทำสะพานข้ามด่านคู ให้คนผู้มาไปได้สบาย
  พวกข้างหลังยังพากันมามาก ยกขันหมากมาบ้านกูสูทั้งหลาย
  เออเองนี่ดีในหมู่สูเป็นนาย  สูจับจ่ายรีบร้อนอย่านอนใจ
  ยักษ์คำนับรับว่าทองของไม่ยาก ของไม่มากทำพอข้ามคลองน้ำไหล
  ทองท่อนแท่งที่ยังจมอยู่ถมไป นายครรไลสุขสำราญยังบ้านเรือน”

   
และอีกตอนหนึ่งมีว่า
      “ฝ่ายยักขิณีที่ทำตะพานนั้น บอกเพื่อนกันให้รู้ความตามประสงค์
  ว่าม่องล่ายวายชีวิตถึงปลิดปลง ยักษ์ที่คงเอาทองคำทำตะพาน
  ก็เว้นว่างร้างรื้อเสียทั้งสิ้น  สละถิ่นหนีไปไกลสถาน
  จึงนับเนื่องเรียกเมืองบางตะพาน สืบบูราณรวมเรียกกันทุกวันมา”


   นิทานคำกลอนตาม่องล่ายนี้ ไม่ทราบผู้แต่ง เป็นเพียงสันนิษฐานว่าแต่งราว พ.ศ.2431  ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 แต่แผนที่ชักเลอะเลือนเต็มที เพราะกลอนตอนแรกที่กล่าวถึงนั้น เป็นตอนตาม่องล่ายพาเจ้าเมืองเพชรมาแต่งงานกับลูกสาวชื่อ“ยมโดย”ที่เมืองเกาะหลัก (ประจวบ) ซึ่งการเดินทางไม่มีความจำเป็นต้องผ่านไปทางบางสะพานก่อน  แต่ผู้แต่งก็อดกล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์และความมีชื่อเสียงโด่งดังของทองบางสะพานนี้ไม่ได้
 นอกจากนี้ เรื่องทองบางสะพานยังปรากฏในพงศาวดารอีกว่า เมื่อ จ.ศ.1108 (พ.ศ.2289) ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ผู้รั้งเมืองกุย บอกส่งทองร่อนหนัก 3 ตำลึง เข้าถวายสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ จึงโปรดให้เกณฑ์ไพร่ 2,000 คน ยกออกไปตั้งร่อนทอง โปรดร่อนทองเป็นเวลาปีเศษจนถึง พ.ศ.2291 ผู้รั้งเมืองกุยจึงได้ทองเข้าถวายเป็นน้ำหนัก 90 ชั่งเศษ  จึงโปรดให้ผู้รั้งเมืองกุยเป็นพระกุยบุรี

   กาญจนาคพันธ์กล่าวไว้ใน “ร่อนทองที่บางตะพาน” ว่า อันที่จริงในเมืองไทยอุดมไปด้วยแร่ทองคำ จนชาวอินเดียเรียก “สุวรรณภูมิ” และกรีกเรียก Golden Chersones  มาแต่โบราณดึกดำบรรพ์แล้ว  เราเอาทองมาใช้ทำสิ่งของและซื้อขายกันมาแต่สมัยเชียงแสน  สมัยนั้นมีทองมาก ราคาถูก ทองเนื้อต่ำราคาหนักบาทละสี่บาท เรียกว่าทองเนื้อสี่  สูงขึ้นไปบาทละห้า ก็เรียกทองเนื้อห้า เป็นลำดับไปจนถึงทองเนื้อแปดเป็นอย่างสูง  แต่เรื่องพบทองร่อนทองอะไรเหล่านี้ พงศาวดารไม่ได้กล่าวถึง เพิ่งจะมากล่าวไว้ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ  คราวนี้ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นด้วยคราวนี้พบมากและเป็นทองเนื้อสูงสุด  คือสุกปลั่งเหลืองอร่าม  ไม่ใช่เนื้อทองต่ำเรียกกันว่าทองสีดอกบวบ  ที่พบกันทั่วไปทองนี้ซื้อขายกันบาทละ 9 บาท เรียกว่า นพคุณเก้าน้ำ หรือทองเนื้อเก้า  เป็นทองเนื้อดีที่สุดของเมืองไทย เช่น สังข์ทองยังมีกล่าวตอนเจ้าเงาะถอดรูปว่า “ขัดสีฉวีวรรณผุดผ่อง  ดังทองชมพูนุชเนื้อเก้า”  หรือถ้าไม่เรียกทองเนื้อเก้า ก็เรียกตามชื่อที่เกิดว่า “ทองบางตะพาน”  สรุปความว่า ทองนั้นถ้าเป็นชนิดดีเนื้อสูงสุดแล้ว ต้องทองเนื้อเก้าหรือทองบางตะพาน คือทองที่พบและร่อนที่บางตะพานในสมัยพระเจ้าบรมโกศนี้

   การที่พบทองที่บางตะพานคราวนี้ พงศาวดารทุกฉบับตลอดจนปูมโหร ลงไว้หมดที่จริงก็ควรนับเป็นเหตุการณ์สำคัญได้ เพราะทองเป็นของมีค่าสูงและเป็นเครื่องเปลี่ยนอย่างสำคัญ  ฝรั่งพบทองก็ยังลงปูมไว้เหมือนกันเช่น วันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2390 พบที่คาลิฟอร์เนีย วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2393 พบที่ออสเตรเลีย ของเราลงไว้ว่า พบเมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น 10 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ จุลศักราช 1109  ก่อนฝรั่งพบ 100 ปีพอดี  ทองคาลิฟอร์เนียเริ่มเข้ามาขายในเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ทองที่ร่อนได้ทั้งหมด พงศาวดาร(ฉบับจันทนุมาศ) กล่าวว่า “ทองพระราชศรัทธาให้ แผ่ทองร่อนทองเป็นประธากล้องปิดพระมณฑปพุทธบาทและให้แผ่หุ้มแต่เหมและนาดลงมา”  คำว่า “ประธากล้อง” หรือ “ประทากล้อง” หมายถึงทองคำเปลวแผ่นใหญ่ทำเป็นพิเศษเรียกว่า “ทองประทากล้อง” เป็นคู่กับ “ทองประทาสี” ซึ่งหมายถึงทองคำเปลวแผ่นเล็กอย่างที่เขาขายและเราซื้อปิดทองพระตามงานวัดบ่อย ๆ (พงศาวดารฉบับกรมราชบัณฑิตว่า “แผ่ทองร่อน ประปากกลองปิดมณฑป”  คำว่า “ปะปากกลอง” น่าจะพิมพ์ผิดหรือเข้าใจผิดอะไรสักอย่าง  ที่ถูกคงจะเป็น “ปะทากล้อง” คือแผ่เป็นทองคำเปลวแผ่นใหญ่ปิดมณฑป)  แผ่นั้นหมายถึง ตี คือตีทอง  ซึ่งปัจจุบันก็ได้มาเป็นชื่อถนนคือ “ถนนตีทอง” ข้างวัดสุทัศน์ฯ เพราะแถวนั้นทำทองคำเปลวมาแต่โบราณ

   จดหมายเหตุของฝรั่งครั้งนั้นเขียนว่า “เอาทองมาหล่อเป็นรูปพระบาทกับทำเป็นดอกบัวดอกหนึ่ง ลางทีก็อาจเป็นได้เพราะทองคราวนั้นได้มาก หนักถึง 90 ชั่ง เท่ากับ 54 กก. หรือหนัก 3,600 บาท ทองคำเปลวนั้นทองหนักบาทหนึ่งทำได้ถึง 720 แผ่น คงไม่ใช้ทองมากนัก  หุ้มยอดมณฑปก็แผ่บางอย่างที่เรียกว่า เปลือกกุ้ง  จึงอาจทำเป็นแผ่นเป็นรูปพระบาทวางทับลงไปในรอยศิลากับทำเป็นดอกบัวเป็นขอบอย่างบัวคว่ำบัวหงายได้อีกจริง  การร่อนทองเห็นจะทำอยู่เรื่อยเป็นของหลวง ที่บ่อทองนั้นจึงได้ชื่อว่า “เมืองกำเนิดนพคุณ” แปลว่าที่เกิดทองเนื้อเก้า.......”

   ทองบางสะพานยังนิยมใช้เป็นเชิงความเปรียบในสิ่งที่นับถือกันว่าเป็นของแท้ หรือของบริสุทธิ์  ดังในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนพิธีถือน้ำซึ่งทรงกล่าวถึงหนังสือ “คำให้การขุนหลวงหาวัด”  ฉบับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ พระราชพิธีสิบสองเดือนตอนที่ทรงกล่าวเป็นเชิงความเปรียบในเรื่องทองบางสะพานมีดังนี้
 “แต่ส่วนจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัด (ฉบับพิมพ์) นั้น ก็ยกความเรียงถือน้ำไปว่านอกพระราชพิธีมีเค้ารูปความคล้ายคลึงกับที่ได้ยินเล่ากันมาบ้าง  แต่พิสดารฟั่นเผือเหลือเกินจนจับได้ชัดเสียแล้ว ว่ามีผู้แทรกแซมความแต่งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนหาได้เสด็จพระราชดำเนินออก ใช้ข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาถึงวัดไม่ เพิ่งจะมาเกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 4  ก็เหตุใดในคำให้การขุนหลวงหาวัดจึงได้เล่าเหมือนในรัชการที่ 4 กรุงรัตนโกสินทร์ จนแต่งตัวแต่งตน และมีเสด็จโดยพยุหยาตราวุ่นวายมากไป ซึ่งไม่เคยมีแต่ก่อนเลยดังนี้  ก็เห็นว่าเป็นอันเชื่อไม่ได้ในตอนนั้น เพิ่งมีปรากฏในฉบับที่ตีพิมพ์นี้ฉบับเดียว สำนวนที่เรียงก็ผิดกับอายุขุนหลวงหาวัด  ถ้าของเดิมขุนหลวงหาวัดได้กล่าวไว้ถึงเรื่องนี้จริง เมื่อเราได้อ่านทราบความก็จะเป็นที่พึงใจเหมือนหนึ่งทองคำเนื้อบริสุทธิ์ที่เกิดจากตำบลบางสะพาน เพราะท่านเป็นเจ้าแผ่นดินเอง  ท่านกล่าวเองก็ย่อมจะไม่คลาดเคลื่อนเลย แต่นี่เมื่อมีผู้ส่งทองให้ดูบอกว่า ทองบางตะพาน แต่มีธาตุอื่น ๆ เจือปนมากจนเป็นทองเนื้อต่ำ ถึงว่าจะมีทองบางตะพานเจืออยู่บ้างจริง ๆ จะรับได้หรือว่า ทองทั้งก้อนนั้นเป็น ทองบางตะพาน ผู้ซึ่งทำลายของแท้ให้ปนด้วยของไม่แท้เสียเช่นนี้ก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวงซึ่งควรจะได้รับ  แล้วเอาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป........ฯลฯ”

   เราจึงกล่าวได้ว่า ทองบางสะพานนั้นเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาสร้างความโอ่อ่าภูมิฐานให้แก่ผู้เป็นเจ้าของเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นของดีมีราคาของคนไทยมาแต่สมัยอยุธยา ทองบางสะพานนี้มีผู้เข้าใจผิดคิดว่ามีอยู่ที่ตำบลบางสะพานบ้าง ตำบลกำเนิดนพคุณบ้าง  ส่วนจังหวัดนั้นเข้าใจกันถูกต้องคือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และที่เข้าใจผิดเช่นนี้ก็เพราะชื่อทองและชื่อเมืองเปลี่ยนกันไปเปลี่ยนกันมานั่นเอง  เดิมเป็นเมืองกำเนิดนพคุณซึ่งเป็นเมืองเก่ามาแต่โบราณ สันนิษฐานว่า ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ท่ามะนาว ฝั่งขวาลำน้ำแม่รำพึงจากลำน้ำขึ้นไป 4 กิโลเมตร  ต่อมาย้ายมาตั้งอยู่ที่ท่ากะหลอ เวลานี้เรียกว่า บ้านหลักเมือง อยู่ริมฝั่งขวาลำน้ำบางสะพานใหญ่  ยังมีเสาหินหลักเมืองปรากฏอยู่ แต่ถูกทุบแตกหักเสียหายไปมากแล้ว  ต่อมาจึงย้ายมาตั้งทางฝั่งซ้ายลำน้ำบางสะพานใหญ่  ครั้นจัดการปกครองท้องที่เป็นมณฑลเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ. 2437  จึงยุบเมืองกำเนิดนพคุณเป็นอำเภอเมืองนพคุณ ขึ้นต่อเมืองชุมพร ครั้น พ.ศ.2449 ตั้งเมืองประจวบคีรีขันธ์จึงยกอำเภอกำเนิดนพคุณขึ้นเมืองประจวบคีรีขันธ์แล้วย้ายมาตั้งริมทางรถไฟเมื่อ พ.ศ. 2459 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางสะพานเมื่อ พ.ศ.2460  ในปัจจุบันนี้อำเภอบางสะพานประกอบด้วยตำบลกำเนิดนพคุณ ทรายทอง ธงชัย บางสะพาน ปากแพรก พงศ์ประศาสน์ และร่อนทอง  และทองที่ขึ้นชื่อลือชานั้นก็อยู่ในเขตตำบลร่อนทองโดยเฉพาะหมู่ที่ 6 ซึ่งเรียกว่า “บ้านป่าร่อน”  และบริเวณที่มีการขุดทองมากที่สุดอยู่ที่บริเวณ ห้วยจังหัน  การที่ได้ชื่อว่า “ห้วยจังหัน” หรือ คลองจังหัน นั้นเล่ากันว่า ถือเอาการนับเวลาการเดินทางเท้าของภิกษุเป็นการเปรียบเทียบคือถ้าพระภิกษุหรือคนทั่วไปเดินทางจากหมู่บ้านเกาะยายฉิม (อยู่ติดกับถนนเพชรเกษม) เวลาเช้าตรู่ ไปถึงคลองนี้เป็นเวลาพอดีที่พระภิกษุฉันอาหาร จากคำบอกเล่านี้ตามระยะทางที่เป็นจริงน่าเชื่อถือได้  สำหรับหมู่บ้านป่าร่อนนั้นตั้งอยู่ห่างจากอำเภอบางสะพานประมาณ 16 กิโลเมตร ห่างจากถนนเพชรเกษมประมาณ 4 กิโลเมตร  แต่ห้วยจังหันนั้นอยู่ห่างจากหมู่บ้านป่าร่อนประมาณ 750-2,000 เมตร

   จากรายงานเมื่อปี พ.ศ.2488 ของคณะสำรวจกองการเหมืองแร่ กรมทรัพยากรธรณี ได้บันทึกไว้ว่า “แร่ทองที่นี่มีชื่อเสียงว่าเป็นทองที่มีความบริสุทธิ์มากที่สุดในประเทศไทย ทองที่พบเป็นทองธรรมชาติเห็นเป็น Nuggest (ทองที่ขุดได้โดยไม่ต้องถลุง) อย่างชัดเจน ที่เป็นเกล็ดละเอียดไม่ค่อยมี บางตอนพบแร่ดีบุกปนอยู่บ้างเล็กน้อย  ทองที่เป็นเม็ดส่วนใหญ่จะกลม  บริเวณทำทองเคยทำแถวบริเวณบ้านป่าร่อนแล้วก็ขึ้นเหนือไปตรงแยก ลำจังหัน ต้นกำเนิดของทองไม่ได้มาจากสายแร่ควอทซ์ แต่มาจากชั้นหินกรวด ความสมบูรณ์ของแร่ขึ้นอยู่กับจำนวนที่มันสะสมในระหว่างชั้นหินนั้น ๆ และชั้นของมันก็คดโค้งไปมาในแนวตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้  ความสมบูรณ์ของแร่เชื่อว่าการทำเหมืองร่อนโดยชาวบ้านอยู่อย่างนี้ คงจะทำได้ต่อไปอีกหลายสิบปี  ส่วนบริษัทฝรั่งเลิกไปนั้นคาดว่าเขาอาจมุ่งไปหาสายแร่ควอทซ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีเลย แต่ถ้าไปในชั้นหินกรวดและพยายามติดตามอาจสำเร็จได้
 และจากข้อเขียนของคณะสำรวจทองคำเมื่อปี 2493 ประกอบด้วย คุณชุมเจษฏ์ จรัลชวนะเพท  คุณอมร เมธีกุล และนายเทเล่อร์ ในหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนายประกอบ ประจวบเหมาะ เรื่องทองบางสะพาน ได้ชี้แจงผลการสำรวจครั้งนั้นไว้ดังนี้
 
“บริเวณป่าร่อนอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 50 เมตร ธารน้ำสำคัญที่ไหลผ่านบริเวณนี้มีชื่อคลองใหญ่ ซึ่งมีสาขาเรียกว่า ห้วยจังหัน  ในฤดูแล้งห้วยจังหันและแขนงอื่น ๆ ไม่มีน้ำแต่ในคลองใหญ่มีน้ำตลอดปี ในอัตราประมาณ 20-30 ลิตรต่อวินาที  การทำแร่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันในเวลาน้ำมาก ประมาณ 8 เดือนในปีหนึ่ง กล่าวคือประมาณเดือนพฤษภาคม – ธันวาคม ซึ่งเป็นระยะเวลาที่น้ำในลำธารต่าง ๆ มีความอุดมสมบูรณ์”
 
“บริเวณป่าร่อนคลองจังหันนี้ ไม่พบหินอัคนี ดาน โดยทั่วไปเป็นหินชนวนสีเทาเขียวและน้ำเงินแกมเทา สลับหินทรายสีเทาและสีเทาแกมเหลือง  อายุของหินดานไม่ทราบแน่นอนเพราะมีลักษณะผุมา  อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ทางธรณีวิทยากับบริเวณที่ติดต่อกันแล้ว  หินดานพวกนี้น่าจะอยู่ในหินชุดภูเก็ตมากกว่าจะอยู่ในชุดกาญจนบุรี บริเวณที่หินพวกนี้โผล่ได้แก่ ตามลำคลองใหญ่และห้วยจังหัน และยังพบอีกว่ามันวางตัวอยู่ใต้ลานแร่ทั่วไปในระยะลึกไม่กี่เมตรเช่นบริเวณห้วยเนินหมี (เนินยายบี้) เนินปอและเนินไทร ก็มีหินชนวนรองรับอยู่ภายใต้เป็นจำนวนมาก แต่ทางบริเวณเนินไก่เขี่ย เกือบทั้งหมดเป็นหินทราย หินดาน พวกนี้มีแนวตั้งแต่ตะวันออกไปถึงเหนือ 50องศาตะวันออก  และโดยมากเอียงตั้งแต่ 15-75 องศาไปทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ หลายแห่งจะพบสายแร่ควอทซ์เล็ก ๆ ไม่ติดต่อกันตัดผ่านเข้าไปในดินดานเหล่านี้”
 
“ทองที่พบอยู่เหนือดินดานที่กล่าวแล้วนี้ มันจะไปสะสมเป็นลานดินปกคลุมบริเวณทั้งหมด ลานแร่ทองสูงกว่าระดับน้ำในลำธารประมาณ 1 – 5 เมตร ลานแร่ทองนี้ประกอบด้วยดินเหนียวโคลนตม หรือทรายรวมทั้งเศษหินผุซึ่งผุพังมาจากหินดานที่รองรับอยู่ชั้นล่าง”

 “บริเวณที่ทำทองกันนั้น มีชื่อเรียกแปลก ๆ กัน แต่ส่วนมากมีคำว่าเนินนำหน้า ทั้งนี้เห็นจะเป็นด้วยบริเวณนี้สูง ๆ ต่ำ ๆ เล็กน้อยโดยทั่วไปและการขุดทอง ต้องขุดหลุมไปจนถึงชั้นดาน ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “เนิน”
 เนินไก่เขี่ย  อยู่ใกล้กับหมู่บ้านป่าร่อน ความจริงเนินไก่เขี่ยนี้ดูแล้วไม่น่าจะเรียกว่าเนินเลยเพราะเป็นที่ราบแท้ ๆ ซึ่งสูงกว่าระดับหินดานประมาณ 50 เซนติเมตร ดินตรงนี้ขุดง่าย เพราะเป็นดินทราย ที่อื่น ๆ เป็นดินเหนียวเสียส่วนมาก บริเวณที่ทำทองเป็นแนวตามยาวระหว่างลำคลองใหญ่กับทางเดิน  พอข้ามฝั่งคลองไปทางทิศตะวันออกก็ไม่พบแร่ การขุดทองต้องขุดหลุมลงไปเท่าตัวคนลอดลงได้  พอถึงหินดานก็ขุดโพรงตื้น ๆ แยกออกไปหาบริเวณที่มีทอง โดยขุดเอาใส่บุ้งกี๋แล้วมีคนสาวขึ้นมาปากหลุม แล้วนำไปใส่ตะแกรงร่อนเสียครั้งหนึ่งจึงเอาไปล้างแล้วเก็บมาร่อนเอาทองด้วยเลียงในที่สุด  ใกล้แพรกห้วยขึ้นไปเล็กน้อย เป็นลานแร่พลัดซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เนินหมี (เนินยายบี้) ความหนาของชั้นดินไม่เกิน 2 เมตร ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านว่าเกร็ดทองหยาบ ๆ อยู่ในอาณาเขตของหินชนวนผุสีเขียวซึ่งมีความหนาประมาณ 25 – 35 เซนติเมตร วางตัวอยู่บนหินดานซึ่งเป็นหินชนวนด้วยกัน แต่ทว่าเนื้อหินยังสดบริเวณนี้นับว่าทองติดดีที่สุด  แต่ทำลำบากเพราะไกลน้ำ จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีฝนตกมากตอนเหนือของเนินหมี ซึ่งอยู่ใกล้น้ำกว่าก็ว่าเป็นที่พักของพวกฝรั่งที่มาขุดทองครั้งกระโน้นจึงเป็นที่ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า เนินหมี นี้ทองน่าจะมีมากจริง ๆ

   เหนือเนินหมีเป็นเนินไทร ลานแร่พลัดไม่หนาและไม่ต่อเนื่องกัน หินดานโผล่ให้เห็นตะโงกเล็ก ๆ ในลานแร่พลัดซึ่งมักจะหนาไม่เกิน 1.5 เมตร ใกล้กับชั้นล่างของดินในลานแร่พลัดเป็นหินชนวนผุชั้นบาง ๆ รวม 20 – 30 เมตร พบทองติดในนั้นด้วย ห่างจากตัวหมู่บ้านจังหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 250 เมตร จะพบปล่องสำรวจเก่าแก่อยู่ปล่องหนึ่งซึ่งขุดโดยฝรั่งที่เข้ามาทำทอง  ปล่องนี้พังแล้วและตามคำบอกเล่ามีความลึก 8 เมตร ขุดโดยพวกฝรั่งเศสก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1  พวกชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ปล่องนี้ได้ขุดผ่านชั้นลานแร่และหินชนวนสีน้ำเงินแกมเทาซึ่งแข็งถึงระเบิดให้แตกออก  แต่ในหินชั้นนี้ปรากฏว่ามีทองติดอยู่ด้วย บริเวณทางเหนือหมู่บ้านห้วยจังหัน เป็นบริเวณลานแร่พลัดซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เนินปอ”  โดยทั่วไปจะมีความหนาของชั้นหินระหว่าง 1 – 3 เมตร  เนินปออยู่ห่างจากหมู่บ้านห้วยจังหัน ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 600 เมตร  ผิวดินตอนบนหนาประมาณ 1 เมตร หรือกว่านั้น มีทองละเอียดปนอยู่  ล่างลงไปเป็นชั้นหินผุแตกเป็นเศษเล็กเศษน้อยทับถมกันหนาประมาณ 1.5 เมตร  ชั้นล่างนี้พบทองเป็นแท่งเลยก็เคยได้ และที่นายประกอบ ประจวบเหมาะ รับซื้อไว้ 1 ก้อนหนัก 50 กรัม ก็ได้มาจากบริเวณนี้ ความบริสุทธิ์ของทองที่นี่เป็นถึง 990 ใน 1,000 รวมความว่า ตรงเนินปอนี้มีทองตั้งแต่ผิวดินลงไปจนถึงชั้นดาน  ตอนบนมีลักษณะละเอียดมากเทียบกันกับผงแป้ง  ตอนกลางโตขนาดหัวไม้ขีดไฟ และชั้นล่างเป็นแท่งหนักหลายกรัม  บริเวณเนินปอนี้ยาวตามลำห้วยจังหันขึ้นไปอีกและมีคนทำการหาทองกันเรื่อย แต่ทำเฉพาะโอกาสที่มีน้ำในลำห้วยเท่านั้น

   จากรายงานและคำบอกเล่าดังกล่าว อาจสันนิษฐานได้ว่า แร่ทองคำได้สะสมกันเป็นลานแร่อยู่ในเขตหมู่บ้านป่าร่อนบริเวณห้วยจังหัน และสองฝั่งคลองทอง น่าจะมีการขุดร่อนกันมาไม่ต่ำกว่า 200 ปีมาแล้วหรือกว่านั้นมาก ดังหลักฐานต่าง ๆ ที่ยกมาอ้างแล้ว  หลุมแร่เก่าแก่แต่ครั้งกระโน้นอยู่เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นเป็นพันเป็นหมื่นหลุมตลอดสองฟากฝั่งคลอง
 การทำแร่ทองคำตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษนั้นใช้แบบเหมืองขุด เหมืองหาบขนาดเล็ก ๆ และใช้วิธีควักร่อนง่าย ๆ แบบชาวบ้าน  การแยกแร่ แรก ๆ ใช้การสาดดินปนแร่ลงบนกระสอบแล้วค่อย ๆ เก็บทองที่ติดบนกระสอบนั้น  อีกวิธีหนึ่งก็คือการแยกแร่ด้วยเลียงไม้ หรือที่เรียกว่าการร่อนทองนั่นเอง  การร่อนด้วยเลียงนั้นจะเริ่มต้นจากการนำเอาดินปนแร่มาขยำบี้กับน้ำให้เป็นโคลนในเลียงเสียก่อนแล้วค่อย ๆ เอียงเลียงหมุนให้น้ำจากลำคลองพัดโคลนในเลียงหมุนวน ดิน โคลน ทราย และอื่น ๆ ที่เบากว่าทองจะถูกน้ำพัดลอยออกไป ส่วนทองและแร่อื่น ๆ ที่หนักกว่าจะรวมตัวกันอยู่ก้นเลียง แร่อื่น ๆ จะมีสีดำ แร่ทองจะมีสีเหลืองแวววาว จะมองเห็นได้อย่างชัดเจน การแยกแร่ด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นนี้ เชื่อว่าการหายหกตกหล่นย่อมจะมีมาก ทองคำที่กู้ได้ส่วนใหญ่จะเป็นเม็ดเป็นแท่งโต  ที่เป็นเกล็ดเล็ก ๆ หรือเป็นผงละเอียดคล้ายแป้งจะถูกเทคืนไปปะปนกับโคลน ดิน ทราย กลายเป็นทรัพย์ในดินสินในน้ำให้ลูกหลานนักนิยมทองขุดค้นกันต่อไป
 ดินในบ่อแร่ทองคำก็มีชื่อเรียกแต่ละชั้นแตกต่างกันไป  ดินชั้นบนเรียกว่า”ดินเมือง” จากดินเมืองต่อลงไปเป็น “ดินกรัง”  ดินชั้นนี้อาจแบ่งเรียกเป็น “ดินหลังสะ” และ “ดินกระสะ”  ต่ำลงไปอีกเรียกว่า “ดินใช้”  ดินใช้คือดินที่มีแร่ทองคำปนอยู่ ต่ำลงไปเป็นดินแข็งเรียกว่า “ดินโกด” คือดานหรือหินดานนั่นเอง  การร่อนแร่ก็คือการนำ ดินใช้ มาแยกหาเนื้อแร่ทองคำ การขุดแร่ต้องขุดให้ถึงชั้นดาน ดานลึกตื้นอย่างไร ความลึกตื้นของบ่อก็เป็นเช่นนั้นด้วย

   บริเวณที่มีทองคำเกิดมักจะใช้คำว่า เนิน นำหน้า  จากคำบอกเล่าของนางเช้า นักขัตฤกษ์ อายุ 70 ปี และนางฉิม สุขวงศ์ อายุ 79 ปี  ซึ่งบรรพบุรุษของท่านเป็นนักขุดทองมาแต่ครั้งกระโน้น  ปู่ของท่านได้เล่าให้ท่านฟังว่า เนินทองคำมีทั้งหมด 33 เนิน และท่านเชื่อว่าทั้ง 33 เนินนั้น เป็นคำชี้บอกผ่านร่างประทับทรง “พ่อตาหมื่นเห็ด” ซึ่งเป็นเจ้าพ่อองค์หนึ่งที่ชาวบ้านเกาะยายฉิมและชาวบ้านป่าร่อนนับถือ ถึงเดือน 6 ขึ้น 6 ค่ำของทุกปีจะมีการบวงสรวงเซ่นไหว้ “พ่อตาหมื่นเห็ด” โดยเจ้าเมืองกำเนิดนพคุณเครื่องบวงสรวงประกอบด้วย ช้างคู่ ม้าคู่ หมูคู่ ไก่คู่ เต่าคู่ แมงดาคู่ และอื่น ๆ ซึ่งจัดเป็นคู่เสมอ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือต้องมีมโนราห์รำถวายด้วย  เมื่อ “พ่อตาหมื่นเห็ด”เข้าประทับร่างทรงแล้วก็จะมีการซักถามว่าปีนั้นควรไปขุดทองที่ไหนกัน  ร่างทรงก็จะวิ่งนำไปใช้ไม้เท้าชี้หรือใช้เท้าเหยียบลงที่ใด นักนิยมทองซึ่งวิ่งแบกชะแลงไป ก็จะพากันขุดในบริเวณนั้น  การขุดทองบริเวณเนินใหม่ก็จะเริ่มขึ้น พิธีบวงสรวงพ่อตาหมื่นเห็ดเพื่อใช้ชี้บอกแหล่งทองคำได้เลิกล้มไปไม่ต่ำกว่า 810 ปี แต่บวงสรวงเพื่อการอื่นนั้นยังมีให้พบเห็นอยู่กระทั่งบัดนี้  ชื่อเนินต่าง ๆ มักถูกตั้งตามชื่อบุคคล ต้นไม้ เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องล้วนแล้วแต่เป็นประวัติการณ์เกี่ยวกับทองบางสะพานทั้งสิ้น  เนินทองคำ 33 เนินมีชื่อดังนี้ เนินสวนกล้วย เนินห้าม เนินม้า เนินส้มป่อย เนินงิ้ว เนินเปลือย เนินตำรวจเสือ  เนินยายนาง เนินห้วยตะแบก เนินปลาไหลเผือก เนินสุหรัด เนินสามชั่งหรือเนินสามชั้น เนินปรางหรือเนินมะปาง เนินทองสุก เนินไก่เขี่ย เนินฝุ่น เนินไทร เนินปอ เนินยายบี้ (อยู่ตำแหน่งเดียวกันกับเนินหมีที่คณะสำรวจรายงานไว้) เนินจีน เนินหาญณรงค์เดิมเรียกว่าเนินไม่หาญลง เนินตะแบกแล่ง เนินช้างตาย เนินมะขามป้อม เนินยางคณึง เนินไทรสามขา เนินสะบ้าขวาง เนินหินปิดตรา เนินกระโดน เนินไม้ตายห่า เนินหินแก้ว เนินขี้เหล็กหรือเนินสะเหล็ก

   จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ยังเชื่อว่า เนินทองคำขุดไปแล้ว 31 เนิน เนินหินแก้วและเนินขี้เหล็กเจ้าที่เจ้าทางยังไม่เปิดให้ขุด มีคำกล่าวถึงเนินขี้เหล็กไว้ดังนี้  “เนินขี้เหล็ก ดินสอง ทองหนึ่ง เปิดเมื่อไร กรุงเทพฯ ร้าง 7 วัน”   เท็จจริงอย่างไรไม่ขอยืนยันแต่จากการสังเกตจะพบเห็นว่า ก่อนการขุดทองทุกหลุม จะมีการปลูกศาลเล็ก ๆ และประกอบพิธีเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางทุกครั้ง  แม้ปัจจุบันก็ยังปฏิบัติกันอยู่ การนับถือเจ้าที่เจ้าทางเทวดาอารักษ์ เซ่นวักบวงสรวงเหล่านี้ดูจะเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งซึ่งนักขุดทองไม่อาจละเลยมองข้ามไปได้

   ห้วยจังหันลำธารแห่งทองคำบางสะพานนั้น เป็นลำธารขนาดเล็ก ๆ มีต้นกำเนิดจากภูเขาห้วยจังหัน กว้างประมาณ 3 – 18 เมตร ยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ไหลมาตามไหล่เขาผ่านบริเวณเนินปอ ไหลมาบรรจบกับคลองใหญ่ ณ บริเวณหมู่บ้านห้วยจังหัน  ปัจจุบันนี้ตื้นเขินมากเนื่องจากมีการทำทองมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี ทำให้ดิน โคลน ทรายที่เกิดจากการล้างแร่ ทับถมกันจนตื้นเขินไปหมด แม้ในปัจจุบันการทำแร่ทองในบริเวณนี้ก็ยังมีอยู่เสมอ

   คลองใหญ่เป็นแม่น้ำสายสำคัญของบางสะพาน ต้นน้ำเกิดจากทิวตะนาวศรีกว้าง 6 – 30 เมตร เป็นที่รวมของธารน้ำสายเล็กสายน้อยซึ่งไหลมารวมกันเป็นลำคลองขนาดใหญ่ไหลผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ  ผ่านตลาดบางสะพานใหญ่และไหลลงสู่อ่าวไทยที่บริเวณปากคลองบางสะพาน ตอนใดไหลผ่านหมู่บ้านใดก็จะมีชื่อเรียกเพี้ยนไปตามชื่อหมู่บ้านนั้น ๆ บริเวณที่ลำห้วยจังหันไหลมาบรรจบกับคลองใหญ่นั้นกลายเป็นบริเวณลานแร่ทองนพคุณ  ทรัพย์ในดินที่มีคุณค่ามหาศาล แหล่งแร่นี้เคยเป็นที่ดึงดูดให้นักขุดทองจากจังหวัดต่าง ๆ จากทุกภาคของประเทศและจากประเทศข้างเคียงให้หลั่งไหลเข้ามาแสวงหาทองคำพากันมาตั้งรกรากกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวป่าร่อนหลายต่อหลายคน ซากตลาดห้วยจังหัน (เดิมเรียกว่าตลาดห้วยท่า) ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของนักขุดทองยังเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ซึ่งนับวันแต่จะสูญสลายไปกับการหักร้างถางพง

   คลองทอง เกิดจากคลองใหญ่และห้วยจังหันไหลมารวมกันกว้าง 3 – 18 เมตร ยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ไหลผ่านเนินไก่เขี่ยหมู่บ้านป่าร่อน ไหลมาบรรจบกับลำธารคลองลอย ที่หมู่บ้านเกาะยายฉิม (เดิมเรียกว่าบ้านกรอกยายฉิม)  ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่ที่ 5 ตำบลร่อนทองในปัจจุบัน  คลองทองนั้นมีประวัติการขุดพบทองมากไม่แพ้บริเวณห้วยจังหันเหมือนกัน  คณะสำรวจไม่ได้สำรวจบริเวณนี้จึงไม่มีการกล่าวถึงในรายงาน
แต่สภาพความเป็นจริงนั้น ทั้ง 2 ฝั่งคลองมีการขุดเจาะทองคำอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณต้นน้ำคลอง ทองซึ่งอยู่ใต้ห้วยจังหันลงมาประมาณ 700 เมตร นั้นมีถ้ำเล็ก ๆ อยู่ถ้ำหนึ่งชื่อว่า “ถ้ำตาหมวก”  บริเวณนี้ปัจจุบันทางราชการได้ทำฝายน้ำล้นโดยพัฒนาให้เป็นฝายน้ำล้นเพื่อใช้ในการเกษตร จึงทำให้มีน้ำตลอดปี การร่อนแร่ก็มีให้เห็นได้ตลอดปีเช่นเดียวกัน

   สำหรับถ้ำตาหมวก ตามคำบอกเล่าและคำเชื่อถือของชาวบางสะพานว่า บริเวณนั้นเป็นถ้ำที่เกิดของทองคำ เป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่มิสเตอร์ลอร์ด มิสเตอร์เต มิสเตอร์มัวร์ ฝรั่งชาติอังกฤษและเพื่อนอีกคน ได้นำกรรมกรชาวจีนซึ่งมารับจ้างขุดทองให้ฝรั่งครั้งนั้น(ประมาณ 90 ปีมาแล้ว) ได้มาขุดทองบริเวณนี้ ขุดได้ทอง 30 ขวดโหลเศษ ฝรั่งชุดนั้นยังเชื่อว่าทองส่วนใหญ่อยู่ในถ้ำตาหมวกขนาดเท่าแม่โคขนาดใหญ่ ได้พยายามเจาะเป็นอย่างยิ่งแม้จะเสียค่าแรงแพงถึงนาทีละ 1 - 5 บาทในสมัยนั้น แต่ทำการไม่สำเร็จ กรรมกรจีนที่รับจ้างขุดเจาะในครั้งนั้นต้องล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุไม่ต่ำกว่า 200 – 300 คน หลักฐานการเจาะทองคำของฝรั่งที่ถ้ำตาหมวกยังมีหลักฐานร่องรอยปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

   นิทานทองคำที่ถ้ำตาหมวก เป็นตำนานทองคำบางตะพานเรื่องหนึ่งซึ่งเล่าสืบทอดกันมาจึงขอถ่ายทอดไว้ในโอกาสนี้ด้วย  เมื่ออดีตกาลนานมาแล้ว ณ ท้องที่ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นี้ มีวัวทองคำตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำ ถ้ำนี้ปกติจะปิดอยู่เสมอจะเปิดก็เฉพาะวันดีคืนดีที่วัวทองคำตัวนี้จะออกจากถ้ำเท่านั้น  ถึงวันดีคืนดีวัวจะออกจากถ้ำและถ่ายมูลซึ่งเป็นทองคำไว้ทั่วไป มูลของวัวนี่แหละเป็นกำเนิดของทองบางสะพาน เมื่อถ่ายมูลไว้มากพอแล้ววัวศักดิ์สิทธิ์ตัวนี้ก็หายไป  หลายปีต่อมามีคนดีมีวิชาเวทย์มนต์คาถาใช้เทียนวิเศษ เรียกว่า “เทียนระเบิดหรือเทียนสว่าน”  สามารถทำให้ถ้ำนี้ระเบิดได้ แสงเทียนทำให้ปากถ้ำเปิดได้จึงนำเทียนเข้าไปปักไว้ในถ้ำและขนทองเอาไปได้มากมาย  ขณะขนทองนั้นได้สวนทางกับ “ตาหมวก”  ตาหมวกก็ออกปากขอทอง ผู้วิเศษก็แนะนำให้ไปเอาในถ้ำเพราะเทียนยังสว่างอยู่ถ้ำยังไม่ปิด  ตาหมวกก็ตาลีตาเหลือกคว้ากะลามะพร้าวริมทางเข้าไปในถ้ำโกยทองได้ 2 กะลา เดินทางกลับบ้านสวนทางกับเพื่อนบ้านคนหนึ่ง เพื่อนบ้านก็เอ่ยปากขอ ตาหมวกก็บอกว่า “ไปเอาเองซีถ้ำยังเปิดอยู่นี่” เพื่อนบ้านก็บอกว่า “เองเอาทองแลกกับกระบุงข้าดีกว่า เองจะได้ทองมาก ๆ “  ตาหมวกก็เห็นจริงเพราะเชื่อว่าเทียนนั้นจะยังสว่างอยู่อีกนาน ก็เอาทองแลกกระบุงแล้วรีบไปที่ถ้ำทันที โกยทองใส่กระบุงเพลินจนเทียนศักดิ์สิทธิ์ลามเลียไหม้ไส้จนหมดดับมอดลง  ปากถ้ำก็เลยปิดสนิททันที เป็นอันว่าตาหมวกถูกขังอยู่ในถ้ำนั้นออกไม่ได้  ตาหมวกหมดหนทางพยายามใช้มือขุดปากถ้ำจนปากถ้ำเป็นช่องพอมือลอดออกมาได้เท่านั้น ไม่สามารถที่จะเอาตัวออกมาได้ จนภรรยาตามมาพบแต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ ได้แต่เพียงช่วยส่งอาหารให้ตาหมวกมีชีวิตต่อไปได้เท่านั้น ตาหมวกได้ช่องนั้นเอื้อมมือมารับอาหารและพูดคุยกับภรรยาจนตราบเท่าชีวิต  ต่อมาถ้ำนี้จึงได้ชื่อว่า “ถ้ำตาหมวก” ยังปรากฏหลักฐานมีช่องโหว่หน้าถ้ำอยู่จนปัจจุบัน  ถ้ำตาหมวกนี้ถือเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ในหมู่ของนักขุดทอง  ทุกครั้งที่มีการขุดทองจะต้องการบนบานศาลกล่าวท่านตาหมวก เพื่อให้เกิดโชคลาภในการขุดทองเสมอ กล่าวกันว่าตาหมวกท่านโปรดของสังเวยประหลาด ๆ โดยเฉพาะหางหมู   ถ้าใครบนท่านด้วยหางหมูมักจะได้ผลสมประสงค์ในการขุดทองเสมอ และเชื่อกันว่าถ้าบ้านเมืองเดือดร้อนจะมีทองคำปรากฏขึ้นมาเพื่อช่วยบำบัดทุกข์แก่ชาวบ้านชาวเมืองเสมอ  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีผู้นำหางหมูไปบนบานเจ้าพ่อถ้ำตาหมวก และได้ลาภสัมฤทธิ์ผลขุดทองได้ 3 – 5 บาทก็มี เท็จจริงอย่างไรถ้ำหมวกก็ยังได้รับของสังเวยจากลูกช้างผู้แสวงโชคมาขุดทองบางสะพานอยู่จนบัดนี้

   ยังมีเรื่องเล่าพาดพิงถึงทองบางสะพานอยู่อีก 2 เรื่อง ในตำบลร่อนทอง มีหมู่บ้านชื่อว่า “ทุ่งเกวียนหัก” และ “ทุ่งตะกละ” เล่ากันว่ากษัตริย์องค์หนึ่งรับสั่งให้ผู้คนมาขุดทองที่หมู่บ้านป่าร่อนนี้ได้ทองไปเป็นจำนวนมาก ต้องบรรทุกเกวียนกลับไปแต่เนื่องจากทองคำมากหนักเกินกำลังเกวียน เมื่อไปถึงทุ่งแห่งนั้นเกวียนบรรทุกทองเกิดหัก ทุ่งแห่งนั้นจึงได้ชื่อ “ทุ่งเกวียนหัก” มาแต่บัดนั้น
 อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า ทุ่งเกวียนหักมีตำนานมาจากการเดินทางไปนมัสการพระธาตุเมืองนคร ในงานเดือน 10 ซึ่งมีเป็นประจำทุกปี การเดินทางแต่ก่อนจะใช้ม้าหรือเกวียนและไปกันเป็นกลุ่ม ๆ นักขุดทองกลุ่มหนึ่งตั้งใจไปนมัสการและร่วมงานพระธาตุ  เมื่อเดินผ่านทุ่งแห่งนี้ เผอิญเกวียนที่บรรทุกทองไปเพื่อช่วยงานพระธาตุเกิดหักและตกลงไปในห้วยเล็ก ๆ ในทุ่งนั้น จึงได้ชื่อว่า “ทุ่งเกวียนหัก” เจ้าของเกวียนซึ่งเป็นหญิงชราต้องลงทุนงมหาทองในห้วย  ห้วยแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า “ห้วยยายลุย” จนทุกวันนี้

   ส่วนเรื่องทุ่งตะกละ นั้นเชื่อกันว่า ถ้าใครพบทองที่ทุ่งแห่งนี้แล้วหยิบฉวยเอาไปจะกลายเป็นผีตะกละ  แต่ก่อนนี้คนเชื่อกันมากไม่มีมีใครกล้าขุดทองที่ทุ่งแห่งนี้เลย แม้จะพบโดยบังเอิญก็เถอะไม่มีใครกล้าเอาเพราะกลัวเป็นผีตะกละ  ผีตะกละนี้คนภาคกลางอาจแปลกใจว่าเป็นผีพันธุ์ใดกันแน่ เพราะผีชนิดนี้ไม่เคยได้ยินชื่อในทำเนียบผีทั้งหลายเลย  ผีตะกละก็คือผีกระสือในภาคกลาง หรือผีโพงในภาคอีสานและพายับนั่นเอง คำว่าตะกละก็คือ ตะกละตะกราม กินหรือเอาไม่เลือกนั่นเอง เพราะผีชนิดนี้กินอาจม สิ่งโสโครกต่าง ๆ ความเชื่อของคนแถวนี้เมื่อก่อนโน้นเชื่อกันอย่างจริงจังจนไม่มีใครกล้าขุดทองในทุ่งตะกละนี้เลยเพราะกลัวจะกลายเป็นผีตะกละดังกล่าวแล้วนั่นเอง

   ที่หมู่บ้านพันลำมีคลอง ๆ หนึ่งชื่อว่า “คลองพันลำ”  คลองพันลำนี้เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายทองคำ ซึ่งเป็นเรื่องเล่ามาแต่ครั้งกระโน้นว่าการขนถ่ายทองคำไปส่งเรือใหญ่ที่จอดอยู่ปากอ่าวบางสะพานนั้น ไม่มีทางใดรวดเร็วและสะดวกเท่าการขนส่งด้วยเรือเล็ก เพราะคลองบางสะพานนั้น บางตอนตื้นและแคบ การขนทองครั้งนั้นใช้เรือแจวถึง 1,000 ลำ เรือเล็กซึ่งขนทองเกิดอุบัติเหตุล่มลงที่บริเวณคลองดังกล่าว คลองนั้นจึงถูกเรียกว่า “คลองพันลำ” ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งยืนยันที่ควรกล่าวไว้ในที่นี้อีกก็คือ “ทุ่งค่าย” ซึ่งเป็นทุ่งที่ทางราชการได้มาตั้งค่ายทหาร และคุมไพร่พลออกไปขุดทอง ภายหลังที่ฝรั่งเข้ามาขุดทองได้ใช้บริเวณนี้เป็นที่พักกรรมกร กลายเป็นค่ายฝรั่งและได้สร้างหอสูงและกว้างขวางมากชาวบ้านเรียกว่า “หอฝรั่ง” หอนี้เพิ่งถูกรื้อไปเมื่อประมาณ 70 ปีมานี้เอง สิ่งที่ยังเหลืออยู่บัดนี้คือต้นมะขามใหญ่ 3 ต้น ทุ่งค่ายนี้อยู่หลังโรงเรียนธนาคารออมสินไปประมาณ 600 เมตร และอยู่ในเขตหมู่ที่ 5 ตำบลร่อนทอง

   การร่อนทองคำในปัจจุบันยังมีผู้พบเห็นทองคำอยู่บ้างบริเวณห้วยจังหัน คลองทอง ถ้ำตาหมวก  แร่ทองคำที่ได้ส่วนใหญ่เป็นเกล็ดเล็ก ๆ มีบ้างที่โตขนาดเม็ดข้าวโพด  แม้แต่ที่เป็นผงคล้ายแป้งก็ต้องหาวิธีจับโดยใช้ปรอทเป็นเครื่องช่วยจับ ต้องใช้ความมานะอุตสาหะและความละเอียดถี่ถ้วนในการร่อน เพราะทองคำปัจจุบันนี้ราคาแพง  การทำเหมืองปัจจุบันเป็นแบบเหมืองฉีดขนาดเล็ก  ขณะนี้มีประมาณ 14 แห่ง ผู้ที่ร่ำรวยและล่มจมเพราะการทำเหมืองประเภทนี้ก็ยังปรากฏให้เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ

   ประวัติการณ์และตำนานทองคำแห่งห้วยจังหันย่อมตราตรึงเป็นความภาคภูมิใจของชาวบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเกิดบนผืนแผ่นดินแห่ง “สุวรรณภูมิ” นี้ทุกคน  แม้จะรู้ว่าโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าของหรือได้เห็นเนื้อทองแท้แห่ง “ทองนพคุณ” นี้จะมีเพียงน้อยนิดก็ตามที

   ในปัจจุบัน ทองคำที่ขุดได้จากบ่อทองที่ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพานนี้ จากการสำรวจมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะประกอบเป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำได้  จังหวัดได้เคยติดต่อกับกรมโลหกิจมาตรวจสอบปริมาณแร่ทองคำในบริเวณนี้แล้วถึง 2 ครั้ง และได้รายงานผลว่า มีปริมาณไม่เพียงพอดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ไม่สามารถจะส่งเสริมให้มีเหมืองแร่อันมีค่าขึ้นในท้องที่นี้ได้ ทุกวันนี้ ชาวบ้านจึงอาศัยร่อนเอาตามลำคลองบ้างและขุดกันเป็นหลุม ๆ บ้าง  แต่ละหลุมกว้างยาวประมาณด้านละ 2 เมตร ลึก 1 – 2 เมตร และเมื่อร่อนแล้วมักจะได้ทองในลักษณะของผงเล็ก ๆ หรือก้อนค่อนข้างกลมขนาดเล็กดังที่จังหวัดได้รวบรวมมาตั้งแสดงไว้  ในพิพิธภัณฑ์สถานประวัติธรรมชาติของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้ว ท่านจึงมีโอกาสที่จะได้ชม “ทองนพคุณ” อันล้ำค่าจากเมืองกำเนิดนพคุณ หรือ “ทองบางตะพาน” เพื่อเป็นขวัญตา แม้จะน้อยนิดก็ยังเป็นความภูมิใจที่ได้มาเห็นทองนพคุณ.







Copyright © 2010 All Rights Reserved.
Share